ก่อนจะมาเป็นผู้ประกอบการ
Business Owner
V.14 NO. 168 August 2014



ก่อนจะมาเป็นผู้ประกอบการ

สัตกร วงศ์สงคราม

กระแสอายุน้อยหลายร้อยล้านมีมาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ อยากเป็นเจ้าของธุรกิจกันเพียบ อยากรวย อยากเป็นเศรษฐีภายในระยะเวลาอันสั้น ผมดีใจครับ ที่เห็นน้องๆ มีไฟ มีเป้าหมาย มีความฝัน แต่เอาเข้าจริง ก็อย่างที่คนโบราณท่านว่าไว้ ทางชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่มีใครได้อะไรมาโดยไม่ต้องแลกหรือได้มาฟรี หากแต่ต้องมีวิธีการและกระบวนการที่จะทำให้ธุรกิจนั้นประสบความสำเร็จ อะไรที่เข้าข่าย "ฟลุค" ไม่มีหรอกครับ

"ประสบการณ์" นั้นสำคัญที่สุด ผมยังศรัทธาเจ้าสัวระดับมหาเศรษฐีหลายๆ ท่าน ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว แต่ได้ทิ้งมรดกไว้ให้ลูกหลานสืบทอดต่อ มรดกที่มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สมบัติก็คือ "ทรัพยากรทางปัญญา" ของท่าน ที่ถ่ายทอดไว้ให้คนรุ่นหลัง แทบทุกท่านไม่มีใครที่ทำอะไรแล้วรวยเลย หรือเริ่มต้นวัยทำงานด้วยการเป็นเจ้าของกิจการในทันที ด่านแรกที่ต้องผ่านพบคือ "การเป็นลูกจ้าง" สั่งสมประสบการณ์จากตรงนั้นเพื่อธุรกิจของตนเองในอนาคต

ผมไม่เคยเห็นด้วยกับความคิดในการการเขย่งก้าวกระโดดหลังจากเรียนจบเพื่อเป็นเจ้าของธุรกิจเลยทันที เขาอาจจะแสดงออกว่า "เขาไม่อยากเป็นลูกน้องใคร" "เขาอยากเป็นนายตัวเอง" "เขาอยากลองผิดลองถูกด้วยตัวของเขาเองด้วยธุรกิจที่เขาสร้างขึ้น ให้มันรู้ไปเลยว่า จะอยู่ จะไป จะเจ๊ง จะเจ๋ง ก็เรื่องของเขา" ทุกความคิดช่างท้าทายดีแท้ แต่ความล้มเหลว ความผิดพลาด ความผิดหวัง (ที่บางคนบอกว่าเป็นครู) นั้น หากมันเกิดขึ้นบ่อยๆ ซ้ำๆ มันคือการบั่นทอนความสุขในชีวิต และนำไปสู่ภาวะที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ได้ ดังนั้น "ผิดบ่อยๆ ซ้ำๆ จึงไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก" และทุกครั้งที่พลาด นั่นหมายถึงการสูญเสียทรัพยากรทั้งที่เป็นทรัพย์สินและแรงกายที่ได้ทุ่มเทลงไป

โดยความเห็นส่วนตัวของผม ก่อนจะเป็นผู้ประกอบการ "ควรเป็นลูกน้องเขาเสียก่อน" และตำแหน่งที่ดีที่สุดคือ "พนักงานฝ่ายขาย" ขึ้นชื่อว่าเป็นพนักงานขายสิ่งแรกที่ต้องพกติดตัวไปคือ "ทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ" คิดให้ได้ว่า อาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ได้หมายความว่าต้องไปง้อขอให้ใครซื้อ แต่เอาสิ่งดีๆ ไปนำเสนอแก่ลูกค้า แลกกัน เขาได้สินค้าดีไปใช้ เราได้ตังค์ อาชีพขายจึงเป็นอาชีพที่ต้องผ่านความยากลำบาก การซึมซับบทบาทที่แท้จริงในสนามการขายเป็นสั่งสมประสบการณ์ทีละเล็กละน้อยจนแข็งแกร่งได้ในที่สุด ทั้งในเรื่องของการถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า ออกจากบ้านไปแต่เช้า กลับเข้าบ้านจนมืด ขายของไม่ได้เลยสักชิ้น ไหนจะเป้าหมายใหญ่โต แต่ชั่วโมงนี้ยังไม่ใกล้เคียงความจริงเลยแม้แต่น้อย การรับมือกับคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนรอบข้าง ความอดทนต่อภาวะกดดัน การถูกดูถูก ล้วนแล้วแต่ต้องพบในอาชีพนี้อย่างแน่นอน ดังนั้น อยากแกร่งและมีประสบการณ์เพื่อนำไปใช้ในฐานะเจ้าของธุรกิจ ต้องไปเป็นพนักงานงานเสียก่อน จะได้รู้ว่า ก่อนจะตำหนิลูกน้องฝ่ายขาย ก่อนจะตั้งเป้าหมายที่เป็นตัวเลขยอดขายนั้นมันเป็นไปได้หรือไม่ แล้วครั้งหนึ่งยังจำได้ไหม เมื่อครั้งที่เราเป็นฝ่ายขาย เราลำบากยากเข็ญสักเพียงใด เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะได้เอาใจของเราไปใส่ไว้ในใจของลูกน้อง เราจะได้เห็นใจเขา และในขณะเดียวกัน เราจะได้ช่วยเขาให้ประสบความสำเร็จในการขาย ส่งผลต่อองค์กรของเราที่ก็สำเร็จตามไปด้วย ผมเห็นอยู่ไม่น้อย ผู้ประกอบการที่ไม่เคยผ่านอะไรทำนองนี้มาเลย ได้แต่ยืนเท้าสะเอวด่า ไม่ก็นั่งหัวโต๊ะด่ารอบวง ตอนสิ้นเดือนแล้วไม่ได้ตามเป้าหมาย แหม่พี่ "ทำไมไม่ลองทำเองล่ะ จะได้รู้" แล้วยังกรีดด้วยคำพูดอันแสนเจ็บปวดที่ว่า "ผมจ้างพวกคุณมาเพื่อทำยอดขาย คุณทำไม่ได้ จะให้ผมทำยังไงกับพวกคุณดี" เออ ... เอากะท่านสิ

ลองฝึกใช้เงินให้เป็น และจัดระบบการเงินเข้าทำนองที่ว่า "ทุกบาทฉลาดใช้" ดู คือจ่ายไป 1 บาท ต้องได้กลับคืนมากี่บาทดี เพราะการเป็นผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงลงทุน มันจะมีแต่จ่ายกับจ่าย รายรับยังไม่เข้ากระเป๋าเลย หากสายป่านไม่ยาวพอ ช่วงลงทุนจะลำบากมาก การฝึกระบบการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้เราเกิดปัญญาในการบริหารจัดการงบประมาณ แม้ในภาวะที่รายจ่ายมากกว่ารายรับก็จะสามารถ "เอาอยู่" และในที่สุดก็จะเห็น "การเท่าทุน" และเห็น "กำไร" ตามมา แต่ต้องไม่ "เค็ม เคี้ยว งก" จนเกินไป โดยเฉพาะกับลูกน้อง เพราะในที่สุด คุณจะซื้อใจเขาไม่ได้เลย

ต้องรู้จักเข้ากับคนได้ทุกประเภท ตั้งแต่ระดับกรรมกรถึงนายใหญ่ นอบน้อม พินอบพิเทาให้เป็น รู้จัก "ปะเหลาะ" (ผมไม่ได้ใช้คำว่า "ประจบ" นะครับ) ให้เป็น อย่าเขินที่จะต้องเรียกผู้ใต้บังคับบัญชาที่อายุเยอะกว่าว่า "พี่" บางคนเลี่ยงไปใช้คำว่า "คุณ" แทน ซึ่งคำว่า "คุณ" จะสร้างความห่างเหินระหว่างคนสองคน จนไม่อาจสนิทกันในงานได้ บางทีการปะเหลาะลูกน้องด้วยประโยคง่ายๆ ว่า "น้องทิพย์ พี่รบกวนทำเอกสารให้พี่ 1 ชุด ที่พี่เลือกให้ทิพย์ทำงานนี้ เพราะทิพย์มีทักษะด้านการเขียนได้ดี" แค่นี้ทิพย์ก็ยิ้มแก้มปริ มากกว่าจะคิดว่า "อะไรๆ ก็กู" การเข้ากับคนได้ทุกประเภทจึงเป็นคุณลักษณะหนึ่งของผู้ประกอบการ

อันที่จริง "ก่อนจะมาเป็นผู้ประกอบการ" ยังต้องฝึกอีกเยอะ และมีประเด็นอื่นๆ อีกมาก แต่ครั้งนี้ผมเสนอไว้เพียง 3 ประเด็นเป็นอันพอ เพราะเพียงแค่ท่านลองไปเป็นลูกน้องใครๆ แล้วท่านจะได้ประเด็นอื่นๆ ตามมา มากกว่าสิ่งที่อยู่ในกระดาษเพียงหนึ่งหน้านี้ครับ คุณที่รัก

หน้าหลัก | ประวัติ | งานบรรยาย | บทความ | ติดต่อ

sattakorn.com Powered by NetworkMission |